การขอประกันตัวคืออะไร
การขอประกันตัว คือ การขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหรือขอให้ปล่อยจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ ลักษณะ คือ
- การขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องมีประกัน
- การปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีประกัน
- การปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีประกันและหลักประกัน
ทำได้เมื่อใด ที่ไหน
- เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้อยู่ในอำนาจของศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
- เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายขังนั้น
- เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนี้
- เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว หากมีอุทธรณ์หรือฎีกา แต่สำนวนยังมิได้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนี้ หากสำนวนส่งไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนี้ หรือต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้แล้วแต่กรณี
- กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว(อายุไม่ถึง ๑๘ ปี) ตำรวจมีอำนาจควบคุมเด็กหรือเยาวชนได้เพียง ๒๔ ชั่วโมง หลังจากนั้นตำรวจต้องส่งเด็กหรือเยาวชนไปให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก และเมื่อพนักงานอัยการฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลแล้ว การขอประตัวเด็กหรือเยาวชนต้องยื่นต่อศาล
ผู้มีสิทธิยื่นขอประกัน
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเอง
- ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติพี่น้อง นายจ้าง ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อน เป็นต้น ซึ่งมักเรียกกันว่า “นายประกัน”
หลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันได้
- เงินสด
- หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก
- พันธบัตรรัฐบาลหรือสลากออมสิน
- สมุดหรือใบรับฝากประจำธนาคาร
- ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่าย และธนาคารผู้จ่ายรับรองตลอดไปแล้ว
- ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
- หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
- บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน
หมายเหตุ
- ในกรณีวางสมุดเงินฝากหรือใบใบรับเงินฝากประจำของธนาคารจะต้องนำหนังสือรับรองยอดเงินคงเหลือปัจจุบันดังกล่าวของธนาคารมาแสดงด้วย
- ในกรณีวางโฉนดที่ดิน น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก จะต้องมีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินหรืออำเภอท้องที่มาแสดงด้วย
- ให้ผู้ขอทำสัญญาประกันด้วยบุคคลเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงสถานะอัตราเงินเดือนและหากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเองเป็นหลักประกันรายอื่นอยู่ ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย
หลักประกันกรณีใช้ตำแหน่งเป็นประกันในการปล่อยชั่วคราวข้าราชการพลเรือน
- ระดับ ๓ ถึง ๕ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า เป็นหลักประกันในวงเงินไม่เกิน ๖๐,๐๐๐.- บาท
- ระดับ ๖ ถึง ๘ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า เป็นหลักประกันในวงเงิน ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐.- บาท
- ระดับ ๙ ถึง ๑๐ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า เป็นหลักประกันในวงเงิน ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐.- บาท
- ระดับ ๑๑ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า เป็นหลักประกันในวงเงิน ไม่เกิน ๘๐๐,๐๐๐.- บาท
ข้าราชการตำรวจและทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือข้าราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
- ให้ทำสัญญาประกันตามระดับที่เทียบเท่า ๘๐๐,๐๐๐.- บาท
- สมาชิกรัฐสภา , ข้าราชการเมือง วงเงินไม่เกิน ๘๐๐,๐๐๐.- บาท
ทนายความ
- ทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเองเป็นหลักประกัน สำหรับตนเองหรือบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา
- เป็นทนายความไม่เกิน ๕ ปี วงเงินไม่เกิน ๖๐,๐๐๐.- บาท
- เป็นทนายความตั้งแต่ ๕ ปี ไม่ถึง ๑๕ ปี วงเงินไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐.- บาท
- เป็นตั้งแต่ ๑๕ ปี ขึ้นไป วงเงินไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐.- บาท
หลักฐานที่ต้องใช้ในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจพร้อมสำเนา ๑ ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา ๑ ชุด
- ผู้ขอประกันที่สมรสแล้วแม้มิได้จดทะเบียน ต้องให้สามีหรือภรรยาให้ความยินยอมพร้อมนำหลักฐานต่อไปนี้มาแสดง
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจพร้อมสำเนา ๑ ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนา ๑ ชุด
- หนังสือยินยอมของคู่สมรส
- กรณีผู้ขอประกันเป็นหม้าย ต้องนำหลักฐานมาแสดง เช่น
- ใบสำคัญการหย่า หรือ
- ใบมรณะบัตรของคู่สมรสหรือทะเบียนบ้านประทับว่า ตาย หน้าชื่อคู่สมรสพร้อมสำเนา ๑ ชุด
- กรณีชื่อตัวหรือชื่อสกุลเจ้าของหลักทรัพย์ตามบัตรของทางราชการไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์ ต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ออก ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่เจ้าของหลักทรัพย์มีชื่อในทะเบียนบ้านมาแสดง
- กรณีชื่อตัวหรือชื่อสกุลเจ้าของหลักทรัพย์ตามบัตรของทางราชการไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์ เนื่องจากเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องมีหลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล มาแสดง
- กรณีชื่อตัวหรือชื่อสกุลเจ้าของหลักทรัพย์ตามบัตรของทางราชการไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์ เนื่องจากเปลี่ยนชื่อสกุล เพราะทำการสมรสแล้ว ต้องนำใบสำคัญการสมรสมาแสดง
- กรณีเจ้าของหลักทรัพย์ต้องการมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำประกันแทน ต้องนำหลักฐานดังต่อไปนี้มาแสดง
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือใบอนุญาตขับขี่พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของหลักทรัพย์ และของผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา ๑ ชุด
- หนังสือมอบอำนาจ โดยเจ้าของหลักทรัพย์และผู้รับมอบอำนาจไปทำที่อำเภอ การมอบอำนาจต้องมีการรับรองการมอบอำนาจ โดยนายอำเภอหรือผู้ทำการแทน ซึ่งได้ลงลายมือชื่อรับรอง และประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ หรือหนังสือมอบอำนาจโดยผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาทำที่ศาลด้วยตนเอง ลงชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ขั้นตอนการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
- ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากฝ่ายประชาสัมพันธ์
- เขียนคำร้องขอประกันตัวได้เอง โดยขอคำแนะนำหรือดูตัวอย่างได้จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หากผู้ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะช่วยเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่ประการใด
- ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเซ็นชื่อในคำร้องขอประกัน(ด้านหลังของคำร้องแบบ ๕๗) หากผู้ต้องหา หรือจำเลยมิได้ถูฏขังอยู่ที่ศาล เป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำคำร้องไปให้ลงชื่อ
- นายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมหลักฐานต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
- เมื่อเจ้าหน้าที่รับประกันได้ตรวจคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และหลักฐานเรียบร้อยแล้วจะส่งบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐาน
- เจ้าหน้าที่ที่รับประกันจะส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไปทำสำนวนคดีของเรื่องนี้ตามแผนกต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบคำร้องที่ยื่นไว้แล้วนำมาเสนอผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทันที
- ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งในคำร้องขออปล่อยชั่วคราวว่าอนุญาต หรือไม่อนุญาตประการใดแล้วส่งสำนวนคดีและคำร้องขอปล่อยชั่วคราวกลับคืนไปที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่รับประกัน
- เจ้าหน้าที่ที่รับประกันจะแจ้งผลการขอประกันให้นายประกันทราบ
- เมื่อทราบว่าศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวได้แล้ว นายประกันต้องลงชื่อรับทราบวันนัดที่จะต้องนำผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาล โดยเซ็นชื่อในสมุดนัดประกัน
- หลังจากลงชื่อทราบวันนัดแล้ว นายประกันจึงยื่นหลักทรัพย์ให้แก่ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ การรับใบเสร็จรับเงินและใบเสร็จรับหลักทรัพย์ให้นายประกันมารับเอง ถ้าผู้อื่นรับแทนต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ของนายประกันมาด้วย
- การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อนายประกันได้วางหลักประกันเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำสัญญาประกันเสนอศาลออกหมายปล่อย ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้เลยจะนำหมายปล่อยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้องควบคุมในศาล ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างถูกขังตามหมายศาล ไม่ว่าจะถูกขังที่สถานีตำรวจหรือที่เรือนจำเจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขัง
- การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยจะปล่อยในวันที่ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัวก็ได้ การขอประกันดังกล่าวนี้ โดยปกติจะเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง
- หากศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันจะขอรัลหลักทรัพย์คืนได้จากเจ้าหน้าที่ที่รับประกัน
- การขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ฎีกาใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว รายละเอียดสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โปรดอย่าหลงเชื่อคำแอบอ้างของบุคคลอื่นที่อ้างว่าสามารถให้ความช่วยเหลือหรือติดต่อให้ประกันตัวได้เร็วขึ้น หรือช่วยดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวแก่คดีได้โดยต้องเสียค่าตอบแทน เพราะท่านจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ขั้นตอนการขอประตัวทุกครั้งจะเป็นไปดังกล่าวข้างต้น หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับเรื่องการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเกี่ยวกับคดีความ สอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ศาลจะให้ประกันเสมอไปหรือไม่
- คดีอาญา ซึ่งมีอัตราไม่สูงหรือไม่ร้ายแรง เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ถ้าศาลเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่หลบหนี การปล่อยชั่วคราวจะไม่เกิดความเสียหายแก่การดำเนินคดีและผู้ประกันมีหลักทรัพย์เชื่อถือได้ ศาลจะอนุญาตให้ประกันในวันนั้น โดยตีราคาประกันตามสมควรแก่ข้อหา
- คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงเกิน ๑๐ ปี เช่น ปล้นทรัพย์ หรือฆ่าผู้อื่น กฎหมายบัญญัติว่าศาลจะต้องสอบถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือโจทก์ก่อน ว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าไม่คัดค้าน ศาลอาจถามได้โดยมีเหตุอันสมควร หรือศาลจะงดการถามเสียก็ได้
อย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าจะช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด
นายประกันต้องปฏิบัติอย่างไร
- นายประกันต้องให้ชื่อและที่อยู่ปัจจุบันต่อศาล หากย้ายที่อยู่ต้องแจ้งให้ศาลทราบโดยเร็ว
- เมื่อศาลอนุญาตให้ประกัน นายประกันต้องลงลายมือชื่อทำสัญญาประกันไว้เป็นหลักฐาน และลงลายมือชื่อทราบกำหนดวัน เวลา ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล
- นายประกันจะต้องนำผู้ต้องหากหรือจำเลยที่ตนประกันมาส่งตามกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดทุกครั้ง หากนายประกันผิดนัดนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามที่กล่าวข้างต้น ศาลอาจถอนประกันและปรับนายประกันตามสัญญาประกันได้
- กรณีนายประกันไม่สามารถมาศาลได้ นายประกันอาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยแทนได้
เมื่อศาลสั่งปรับนายประกัน
ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกันตามสัญญาประกัน นายประกันจะต้องนำเงินค่าปรับมาชำระภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่ชำระศาลอาจสั่งยึดทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับ ถ้าได้เงินไม่พอชำระค่าปรับศาลอาจยึดทรัพย์อื่น ๆ ของนายประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับจนครบ
สัญญาประกันสิ้นสุดลงเมื่อใด
- ในชั้นผัดฟ้อง/ฝากขัง สัญญาประกันจะสิ้นสุดลงเมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล หรือพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ขอผัดฟ้อง/ฝากขังผู้ต้องหาอีกต่อไป หรือพ้นกำหนดผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาแล้ว
- ในชั้นพิจารณาเมื่อศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีมีคำพิพากษา
- เมื่อนายประกันนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลโดยไม่ประสงค์ที่จะประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นต่อไปนี้
เมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดลงแล้วหรือเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว นายประกันสามารถยื่นคำร้องขอถอนประกันและขอรับหลักทรัพย์ประกันต่อศาลได้ทันที
การคืนหลักประกัน
เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลอนุญาตให้ถอนประกันหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงโดยเหตุอื่น เช่น ศาลเพิกถอนสัญญาประกัน ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย จำเลยตาย นายประกันตายหรือศาลสั่งปรับนายประกัน เพราะผิดสัญญาแล้วย่อมขอรับหลักประกันคืนจากศาลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
อัตราหลักประกันในการขอให้ปล่อยชั่วคราว (โดยประมาณ)
ประเภทความผิด | ราคาหลักประกัน/บาท |
ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน (ม.139) |
80,000 |
ต่อสู้ขัดขวาง, ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน (ม.139,140) |
90,000-180,000 |
ให้สินบนเจ้าพนักงาน (ม.143,144) |
90,000 |
เจ้าพนักงานยักยอก (ม.147) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ทุจริต (ม.148-151) |
300,000-500,000 |
เจ้าพนักงานมีส่วนได้เสียจ่ายทรัพย์เกิน (ม.152,153) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ม.157) ทำให้ทรัพย์หรือเอกสารเสียหาย (ม.158) |
120,000-300,000 |
เจ้าพนักงานเก็บภาษี ตรวจสอบบัญชีโดยทุจริต (ม.154-156) |
300,000 |
เจ้าพนักงานทำลายตรา เครื่องหมาย หลักฐานการยึดหรือใช้ดวงตรามิชอบ (ม.159,160) |
90,000 |
เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ทำเอกสารเท็จ (ท.161,162) ให้สินบนเจ้าพนักงานในการยุติธรรม (ม.167) |
100,000-120,000 |
แจ้งความเท็จคดีอาญา (ม.172,173) แกล้งเพื่อให้รับโทษ (ม.174) |
40,000-100,000 |
ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ (ม.175,177) |
90,000-100,000 |
นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีอาญา (ม.180) |
100,000 |
ทำลายเอกสารหรือพินัยกรรม |
90,000 |
หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง (ม.190) ทำให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้นจากคุมขัง (ม.191) |
50,000-150,000 |
ดูหมิ่นศาล |
100,000 |
เจ้าพนักงานทำการในตำแหน่งโดยมิชอบ (ม.200) |
100,000-300,000 |
ตุลาการ อัยการเรียกรับสินบน (ม.201) |
500,000 |
เจ้าพนักงานทำให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้น (ม.204) เหยียดหยามศาสนา (ม.206) อั้งยี่ (ม.209) |
100,000-150,000 |
ซ่องโจร (ม.210) |
10,000-60,000 |
วางเพลิง (ม.217,218) ทำให้เกิดเพลิงไหม้ (ม.220) |
100,000-500,000 |
ทำให้เกิดระเบิด (ม.221) ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท (ม.225) |
100,000 |
วางเพลิงหรือทำให้เกิดระเบิด เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย,สาหัส (ม.224) |
400,000-500,000 |
ทำการใด ๆ แก่โรงเรือน (ม.226) ผู้มีวิชาชีพออกแบบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ (ม.227) ทำให้เกิดอุทกภัย (ม.228) |
90,000-100,000 |
ทำให้ทางสาธารณะน่าจะเป็นอันตรายแก่การจราจร (ม.229) |
90,000 |
กีดขวางทางรถไฟ (ม.230) ทำให้สัญญานซึ่งจัดไว้เพื่อความปลอดภัย (ม.231) ทำให้ยานพาหนะอยู่ในลักษณะอันตราย (ม.232) เอาของมีพิษเจืออาหาร |
100,000-12,000 |
ทำผิดตาม ม.226-237 เป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายสาหัส ตาย (ม.238) |
120,000 บาทขึ้นไป |
ทำผิดตาม ม.226-237 เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ตาย (ม.238) |
120,000-300,000 |
ปลอมหรือแปลงเงินตรา ม.240,241 |
300,000 |
ทำให้เหรียญกษาปณ์มีน้ำหนักลดลง (ม.242) |
100,000 |
มีไว้เพื่อนำออกใช้หรือได้มาโดนรู้ว่าเป็นของปลอมหรือแปลง (ม.224) |
150,000 |
ไม่รู้ว่าเป็นของปลอม ต่อมารู้แล้วยังขืนนำออกใช้ (ม.245) |
120,000 |
ทำเครื่องมือสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตรา (ม.246) |
200,000 |
ปลอมดวงตราแผ่นดิน ทบวงการเมือง (ม.250,251) ปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสาราชการ (ม.265,266) |
100,000-200,000 |
ข่มขืนกระทำชำเรา (ม.276) |
200,000-350,000 |
กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี (ม.227) |
200,000-350,000 |
ทำผิดตาม ม.276,277 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตาย (ม.277ทวิ,ตรี) |
400,000-500,000 |
อนาจารบุคคลอายุกว่า 15 ปี ไม่เกิน 15 ปี (ม.278,279) |
120,000-150,000 |
ทำผิดตาม ม.278,279 เป็นเหตุได้รับอันตรายสาหัส ตาย (ม.280) |
200,000-500,000 |
เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น (ม.282) |
120,000-200,000 |
พาผู้อื่นไปเพื่ออนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง (ม.284) |
120,000 |
ดำรงชีพจากหญิงค้าประเวณี (ม.286) |
300,000 |
ฆ่าผู้อื่น (ม.288) |
300,000 |
ฆ่าผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรณ์ (ม.289) |
500,000 |
ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ม.290) |
180,000-200,000 |
ประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ม.291) |
120,000-150,000 |
ทำทารุณบุคคลต้องพึ่งตนเพื่อให้ฆ่าตนเอง (ม.292) |
100,000 |
ยุยงเด็กฆ่าตนเอง (ม.293) |
90,000 |
ทำร้ายสาหัส (ม.297) |
120,000 |
ทำให้หญิงแท้งลูกโดยยินยอม (ม.302) |
90,000-120,000 |
ทำให้หญิงแท้งลูกโดยไม่ยินยอม (ม.303) |
100,000-200,000 |
ความผิดต่อเสรีภาพ (ม.309 วรรคสอง) |
80,000-100,000 |
เอาคนลงเป็นทาส (ม.312) |
100,000 |
เรียกค่าไถ่ (ม.131) |
400,000 |
คนกลางเรียกทรัพย์สินที่มิควรได้ (ม.315) |
400,000-500,000 |
พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี (ม.317) |
180,000-200,000 |
พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยไม่เต็มใจ (ม.318) |
150,000-180,000 |
พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยเต็มใจ (ม.319) |
150,000 |
พาหรือส่งคนออกนอกราชอาณาจักร (ม.320) |
150,000-180,000 |
หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ม.328) |
50,000 |
ลักทรัพย์ (ม.334-335 ทวิ) |
50,000-180,000 |
วิ่งราวทรัพย์ (ม.336) |
90,000-200,000 |
กรรโชกทรัพย์ (ม.337) |
90,000-100,000 |
รีดเอาทรัพย์ (ม.338) |
120,000 |
ชิงทรัพย์ (ม.339,339 ทวิ) |
150,000-500,000 |
ปล้นทรัพย์ (ม.340) |
200,000-500,000 |
ปล้นทรัพย์เข้าลักษณะตามม.335 ทวิ |
150,000-180,000 |
ปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัว หรือทำให้อันตรายสาหัส |
300,000-400,000 |
ปล้นทรัพย์โดยทารุณ ใช้ปืนยิง หรือทำให้ตาย |
500,000 |
ฉ้อโกง (ม.341-343) |
5,000-100,000 |
ยักยอก (ม.352-356) |
5,000-100,000 |
รับของโจร (ม.357) ทำให้เสียทรัพย์ (ม.358-360 ทวิ) บุกรุก (ม.362-365) |
90,000-120,000 |
ที่มา : หนังสือคำแนะนำการติดต่องานศาลจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิมพ์โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่