คำแนะนำผู้ที่ได้รับหมายเรียกเป็นพยาน

ตรวจหมายเสียก่อน

  1. เมื่อได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานควรตรวจดูรายละเอียดในหมายเรียกว่าหมายเรียกถึงใคร ศาลใดออกหมาย ศาลนั้นอยู่ที่ไหน เพราะในกรุงเทพมหานครฯ และบางจังหวัดมีด้วยกันหลายศาล จะได้ไม่ไปผิดศาลและไม่เสียเวลา หากไม่รู้ว่าศาลนั้นตั้งอยู่ที่ไหร ให้โทรศัพท์สอบถามได้จากประชาสัมพันธ์ศาลตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในหมายเรียกนั้น
  2. ตรวจดูในหมายเรียกว่า ศาลนัดให้ไปเบิกความเป็นพยานในวันเดือนปีใด เวลาใด โดยปกติศาลจะนัดเช้าเวลา 9.00 นาฬิกา หรือนัดบ่ายเวลา 13.30 นาฬิกา
  3. กรณีพยานย้ายที่อยู่ ศาลจะส่งประเด็นไปสืบพยานยังศาลที่พยานมีภูมิลำเนาอยู่ พยานไม่ต้องเดินทางไปศาลซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ

เตรียมตัวให้พร้อม

ในหมายเรียกจะมีระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ใดเป็นโจทก์เป็นจำเลย พยานควรรื้อฟื้นความจำว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคู่ความในคดีนั้นอย่างไร เมื่อถูกทนายความซักถามจะสามารถตอบได้ตรงคำถาม ไม่เสียเวลา

ไปศาลตามเวลานัด

ต้องไปศาลตรงตามเวลานัด หากถึงวันนัดแล้วพยานยังไม่ไปการสืบพยานไม่พร้อม ศาลอาจจะมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันอื่น พยานจะต้องไปศาลใหม่ทำให้เสียเวลามากยิ่งขึ้น ในบริเวณศาลห้ามพกพาอาวุธ ดื่มสุราหรือของมึนเมา และสิ่งเสพติด มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

หากไปศาลไม่ได้ควรทำอย่างไร

พยานที่ได้รับหมายเรียกแล้วหากมีความจำเป็นเพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุขัดข้องจำเป็นประการอื่น ควรรีบแจ้งให้ศาลทราบเสียก่อนวันนัด โดยแจ้งเป็นหนังสือ หรือพบประชาสัมพันธ์ศาล หรืออาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปแจ้งให้ศาลทราบก็ได้ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและศาลอาจจะออกหมายจับเอาตัวมาขังไว้จนกว่าจะเบิกความก็ได้

หาห้องพิจารณาและรอพร้อมเบิกความ

เมื่อไปถึงศาลแล้วควรนำหมายเรียกไปสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือตรวจดูจากประกาศของศาลว่า คดีที่จะต้องเบิกความเป็นพยานนั้น ศาลจะออกพิจารณา ณ ห้องพิจารณาเลขที่เท่าใด พยานควรไปรออยู่ ณ ห้องพิจารณานั้น เพื่อให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหรือเจ้าหน้าที่ศาลจะได้ทราบว่าพยานมาศาลแล้ว พยานคนใดจะเบิกความก่อนหลัง สุดแล้วแต่ศาลหรือคู่ความฝ่ายที่อ้างผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะเบิกความต้องออกไปรออยู่นอกห้องพิจารณาหรือห้องพักสำหรับพยาน และห้ามไม่ให้พยานแอบฟังขณะพยานอื่นกำลังเบิกความอยู่

พยานจะต้องปฏิญาณหรือสาบานตน

เจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นผู้เรียกและนำพยานไปยังสถานที่สำหรับพยานเบิกความ (คอกพยาน) ก่อนเบิกความพยานจะต้องปฏิญาณหรือสาบานตนตามลัทธิศาสนาของตน เว้นแต่

  1. บุคคลมีอายุต่ำกว่า 14 ปี หรือผู้หย่อนความรู้สึกผิดและชอบ
  2. ภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา
  3. บุคคลที่คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบาน

การถามพยาน

ภายหลังจากปฏิญาณหรือสาบานแล้ว พยานจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่ และความเกี่ยวพันระหว่างพยานกับคู่ความ ต่อจากนั้นคู่ความหรือทนายความฝ่ายที่อ้างพยานมาศาลจะซักถามเรื่องราวจากพยาน (ภาษากฎหมายเรียกว่าซักถาม) เมื่อฝ่ายที่อ้างพยานถามเสร็จแล้ว คู่ความหรือทนายความอีกฝ่ายหนึ่งจะถามพยาน (ภาษากฎหมายเรียกว่าถามค้าน) เสร็จแล้วฝ่ายที่อ้างพยานจะถามพยานอีกครั้งหนึ่ง (ภาษากฎหมายเรียว่าถามติง) ทั้งนี้คู่ความหรือทนายความอาจจะงดการถามค้านหรือถามติงเสียก็ได้ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อคดี

คำถามซึ่งใช้ถามพยาน

กฎหมายห้ามคู่ความและทนายความไม่ว่าฝ่ายใดถามพยานด้วยคำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี (เนื้อหาสาระที่จะเป็นข้อแพ้ชนะ) หรือคำถามที่อาจจะทำให้พยานหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญาหรือคำถามที่เป็นการหมิ่นประมาท พยานมีสิทธิแถลงต่อศาลของดตอบคำถามทำนองดังกล่าวได้ การอนุญาตให้งดตอบคำถามหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล

วิธีการเบิกความ

ศาลอาจจะให้พยานเบิกความโดยวิธีเล่าเรื่องตามที่พยานได้รู้เห็นหรือได้ยินมาหรืออาจจะเบิกความโดยวิธีตอบคำถามของศาลหรือคู่ความหรือทนายความก็ได้ พยานควรเบิกความเฉพาะเท่าที่พยานได้รู้เห็นหรือได้ยินมาโดยตรงเท่านั้น ไม่ต้องเบิกความตอบคำถามถึงเรื่องที่พยานได้รับการบอกเล่ามาจากผู้อื่นเว้นแต่มีคำสั่งให้พยานเบิกความถึงเรื่องที่ได้รับการบอกเล่า พยานจะต้องเบิกความด้วยวาจาห้ามพยานอ่านข้อความที่จดหรือเขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เหตุการณ์ที่พยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ให้ตอบไปตรงๆ ว่าพยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ ถ้าพยานฟังคำถามของคู่ความหรือทนายความไม่ชัดเจน พยานอาจจะต้องขอให้คู่ความหรือทนายความทวนคำถามเสียใหม่ได้

พยานเบิกความเสร็จ

เมื่อเบิกความเสร็จพยานจะต้องลงลายมือชื่อไว้ในคำพยานที่ศาลบันทึกหรือพิมพ์ลายนิ้วมือหรือศาลอื่น คำให้การของพยานที่บันทึกไว้ให้ฟังพยานจะต้องฟังว่าศาลบันทึกตรงกับที่ให้การไว้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือขาดหายไปบางตอนจะต้องรีบแถลงให้ศาลทราบทันทีเพื่อให้ศาลแก้ไข

เลื่อนการสืบพยาน

ในกรณีที่มีการเลื่อนสืบพยาน หากเจ้าหน้าที่ศาลให้พยานลงชื่อรับทราบวันเวลานัดครั้งต่อไปแล้ว ศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานอีก โดยถือว่าพยานได้รับทราบวันเวลานัดของศาลแล้ว

ค่าพาหนะและค่าป่วยการพยาน

พยานในคดีแพ่งจะได้รับค่าพาหนะและค่าป่วยการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยศาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้จ่าย

  • พยานในคดีอาญา กรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ สำหรับกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับค่าพาหนะและค่าป่วยการ แต่ในต่างจังหวัดพนักงานอัยการจะจ่ายค่าพาหนะและค่าป่วยการให้แก่พยานของตนตามระเบียบราชการ
  • คดีอาญาซึ่งราษฎรเป็นโจทก์ หากพยานโจทก์ต้องเสียค่าพาหนะเดินทางมาศาล พยานโจทก์อาจจะร้องขอศาลให้คู่ความนั้นจ่ายค่าพาหนะแก่พยานได้ ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายค่าพาหนะให้เท่าที่เสียไปจริงตามสมควร

การเบิกความเท็จ

พยานผู้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท

 

ที่มา : หนังสือคำแนะนำการติดต่องานศาลจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิมพ์โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่